“ปศุสัตว์ยโสธร Kick off รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มแรก ป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ”
5 ก.ค.64 เวลา 14.00 น.น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร พร้อมนายทรงศักดิ์ วงศ์สุพรรณ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ นายสถาพร จุลสัตย์ ปศุสัตว์อำเภอเมืองยโสธร และอาสาปศุสัตว์ ลงพื้นที่ รณรงค์ Kick off ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนหนองเป็ด บ้านหนองเป็ด ม.4 ต.หนองเป็ด อ.เมืองยโสธร ซึ่งมีนายณรงค์ศักดิ์ โสนาคำ เป็นประธานกลุ่ม สมาชิก 34 ราย เลี้ยงโคขุนลูกผสมพันธุ์บรามันห์ ส่งขายตลาด สร้างรายได้ประมาณ 13,000 บาท/ราย/รอบการเลี้ยง โดยโค กระบือ ของสมาชิกมีสุขภาพสมบูรณ์ดี ไม่พบโรคลัมปี สกิน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ รวม 48 ตัว แยกเป็น โค 35 ตัว กระบือ 13 ตัว และมีแผนในการฉีดวัคซีนพร้อมกันทั้งจังหวัด ตามหลักเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์กำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน มีหลักเกณฑ์ 2 แนวทาง ได้แก่ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดของโรค และการฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมโรค รอบพื้นที่เกิดโรคในวงรัศมี 50 กิโลเมตรจากพื้นที่ที่มีโรค โดยต้องได้รับความยินยอมในการฉีดวัคซีนจากเกษตรกร และเกษตรกรต้องตรวจสุขภาพสัตว์ทุกวันภายหลังฉีดวัคซีน หากพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น มีไข้ มีตุ่มนูนที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้การรักษาทันที รวมทั้งมีมาตรการป้องกันแมลงเป็นระยะเวลา 30 วัน งดเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกพื้นที่ 30 วัน และงดนำสัตว์เข้าโรงฆ่าสัตว์ 21 วัน ฟาร์มที่กำลังเกิดโรคจะไม่ฉีดวัคซีน เนื่องจากหากสัตว์ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ เมื่อฉีดวัคซีนจะทำให้สัตว์แสดงอาการป่วยได้ ดังนั้น ก่อนฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่จะตรวจสุขภาพสัตว์ทุกตัว จะฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีไข้ เท่านั้น และไม่มีสัตว์ป่วยอยู่ในฝูง สัตว์ทุกช่วงอายุสามารถฉีดวัคซีนได้ ภูมิคุ้มกันโรคจะขึ้นจนป้องกันโรคได้ ภายหลังฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ สัตว์ที่หายป่วยแล้วและสัตว์ที่อยู่ร่วมฝูง อาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน เนื่องจากร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันที่ป้องกันโรคได้นาน 5 เดือน ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคเริ่มดีขึ้น พบสัตว์ป่วยใหม่ลดลง และเกษตรกรมีความเข้าใจในการดูแลสัตว์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือเกษตรกรยึดถือปฏิบัติตามมาตรการ 5 ก ในการป้องกันโรค ได้แก่ การกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลง การกำจัดแมลงหรือไล่แมลงด้วยสารเคมีหรือน้ำส้มควันไม้ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง การกักสัตว์ไว้ในคอกงดเคลื่อนย้ายสัตว์ในระยะนี้ และการมีระบบการป้องกันโรคที่ดีโดยเข้มงวดการฆ่าเชื้อโรคคนและยานพาหนะเข้า ออกฟาร์ม หากพบสัตว์ป่วยให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
(ภาพ - ข่าว: กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ 5 กรกฎาคม 2564)