“ปศุสัตว์จังหวัดยโสธรร่วมกับด่านกักกันสัตว์ยโสธร รณรงค์(Kick off) พ่นสารกำจัดแมลงและพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค ”
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 เวลา 08.00 น. น.สพ.อภิชาติ ภะวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร พร้อมนายทรงศักดิ์ วงศ์สุพรรณ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ยโสธร และนายประเสริฐ วงศ์นาค หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ น.สพ.พิทักษ์ เผาผ่า หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ นายชัชวาล หินซุย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ และนายสมศักดิ์ ธรรมบุตร ปศุสัตว์อำเภอเมืองยโสธร ร่วมกับด่านกักกันสัตว์ยโสธร จัดกิจกรรม KICK OFF รณรงค์การป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ ณ ตลาดนัดโค-กระบือบ้านเชียงหว่าง ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคลัมปี สกิน และพ่นสารกำจัดแมลงและพ่นยาฆ่าเชื้อให้กับพาหนะที่ใช้ขนย้ายโค-กระบือ รวมถึงรณรงค์ทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์โดยรอบตลาดนัดโค-กระบือให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์เป็นประจำ ตามนโยบายกรมปศุสัตว์
“รอง ผวจ.ประชุมคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดยโสธร (ก.ช.ภ.จ.)”
1 มีนาคม 2565 นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดยโสธร (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีโรคระบาดสัตว์ชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) โดยมี น.สพ.อภิชาติ ภะวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร พร้อมด้วยนายชัชวาล หินซุย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ และปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ได้นำเสนอความเสียหายจากโรคระบาดสัตว์ ชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ต่อคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดยโสธร (ก.ช.ภ.จ) เพื่อเสนอขอความเห็นชอบที่ประชุม ก.ช.ภ.จ.ยโสธร พิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีโรคระบาดสัตว์ชนิดโรคลัมปี สกิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 (อัตราการช่วยเหลือใหม่)
โดยมติที่ประชุม เห็นชอบให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ โดยปัจจุบัน (27 กุมภาพันธ์ 2565 ) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธรไม่ได้รับรายงานสัตว์ป่วยตายเพิ่มเติม ทั้งนี้่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร จะได้จัดส่งข้อมูลให้กรมปศุสัตว์พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบฯ ต่อไป
“ปศุสัตว์ยโสธร จัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ควายไทย
เนื่องในวันอนุรักษ์ควายไทย ประจำปี 2565”
วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 น.สพ.อภิชาติ ภะวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ร่วมกับกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ และกลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ พร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ควายไทย เนื่องในวันอนุรักษ์ควายไทย ประจำปี 2565 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เครือข่ายด้านปศุสัตว์ บ้านดวน ม.7 ต.น้ำอ้อม อ.ค้อวัง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยโสธร เห็นความสำคัญของการเลี้ยง การขยายพันธุ์ควายไทย การทำพิธีแฮกนาตามประเพณีโบราณ การใช้ควายไถนา เพื่อเตรียมการเพาะปลูกข้าว โดยสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดยโสธรได้สนับสนุนแร่ธาตุก้อน วิตามิน ยาถ่ายพยาธิ เพื่อบำรุงสุขภาพสัตว์ ในการนี้มีนักเรียนจากโรงเรียน บ้านดวนบากน้อยเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 30 คน เกษตรกรในพื้นที่อำเภอค้อวัง จำนวน 15 คน
วันอนุรักษ์ควายไทย กำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นครั้งแรก
“ปศุสัตว์ยโสธร ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันสถาปนาจังหวัดยโสธร ประจำปี 2565”
วันที่ 1 มีนาคม 2565 น.สพ.อภิชาติ ภะวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันสถาปนาจังหวัดยโสธร ประจำปี 2565 โดยมีนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธี โดยได้ร่วมทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ จำนวน 50 รูป ณ บริเวณหน้าหอประชุมวิธีอีสาน ศาลากลาง จังหวัดยโสธร มีหัวหน้าส่วนราชการภายในจังหวัดร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง โดยงานวันสถาปนาจังหวัดยโสธร ภายใต้ชื่องาน “สะออน 50 ปี ศรียโสธร” กำหนดจัดงาน 7 วัน 7 คืน ระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2565 ณ บริเวณบุ่งน้อย บุ่งใหญ่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงบนเวที ลุ้นโชคมัจฉากาชาด การแสดงคอนเสริต มาชิม ชิม ช้อป แชร์ สินค้าโอทอป สินค้าเกษตรอินทรีย์ และกิจกรรมอีกมายมาย ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด